1. การสำรวจพื้นที่ วางแผน และเตรียมความพร้อม (ควรเริ่มก่อนการปลูกอย่างน้อย 1 ปี)
1.1 สำรวจพื้นที่ว่าเคยเป็นป่าชนิดใดมาก่อน และพรรณไม้ที่เคยพบในในพื้นที่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยสอบถามจากชาวบ้านและสำรวจพรรณไม้ทั้งในพื้นที่และบริเวณรอบ ๆ
1.2 วางแผนการปลูก โดยการนำพรรณไม้ท้องถิ่น ทั้งอดีตและปัจจุบัน มาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม เพื่อลดการแข่งขันตามปริมาณชนิดของแต่ละกลุ่ม จำนวนแต่ละชนิดขึ้นกับวิสัยของต้นไม้ ความสำคัญทางระบบนิเวศ และประโยชน์ต่อสัตว์ป่าและคน เป็นเกณฑ์พิจารณา
กลุ่ม 1. เรือนยอดสูง >30 เมตร (30-40% ของพื้นที่)*
กลุ่ม 2. เรือนยอดรอง 6-30 เมตร (60-70% ของพื้นที่)*
กลุ่ม 3. ไม้พุ่ม 0.5-<6 เมตร (10-30% ของพื้นที่)
กลุ่ม 4. ไม้พื้นล่างและไม้ล้มลุก (10-30% ของพื้นที่)
*ไม้ยืนต้นรวมกันได้ 100 ต้น/ไร่
พื้นที่ที่เหมาะสม ประมาณ 5 ไร่ ขึ้นไป หากมีน้อยกว่านั้นก็ให้คำนวณตามส่วน โดยให้ไม้ยืนต้นที่ปลูกทั้งหมดมีจำนวน 100 ต้น/ไร่ และปลูกให้มีระยะห่างประมาณ 4 x 4 เมตร แบบสุ่มตัวอย่างไม่เป็นแถวเป็นแนว ดังนี้
ปีที่ 1 ให้ปลูกกลุ่ม 1 และ 2 ที่หาได้และ โดยนำกลุ่ม 1 กระจายทั่วแปลง แล้วจึงนำกลุ่มที่ 2 แทรกแบบเต็มพื้นที่
*ควรมีกล้าอย่างน้อย 60% จากทั้ง 2 กลุ่ม
ปีที่ 2 ให้ปลูกกลุ่ม 1 และ 2 ที่เตรียมไว้ในปีแรกจนครบ พร้อมกับปลูกไม้พุ่มกระจายเต็มพื้นที่
ปีที่ 3 ปลูกไม้พื้นล่าง
ปีที่ 7-10 ปลูกไม้เถา
2. เตรียมต้นกล้า ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ควรเริ่มก่อนการปลูก 1 ปี)
2.1 คัดแม่ไม้ และพิสูจน์ความมีชีวิตของเมล็ดก่อนเก็บ
2.2 เพาะเมล็ด
2.3 ใส่เชื้อราไมคอร์ไรซา และจุลินทรีย์ท้องถิ่นอื่นๆ
2.4 ทำกล้าให้แกร่ง (ฮาร์ดเดนนิ่ง)
หากไม่สะดวกเพาะเมล็ดด้วยตัวเอง ให้พิจารณาคุณภาพต้นกล้าจากแหล่งที่ซื้อโดยสังเกตลักษณะหลัก ๆ ดังนี้
1. ขนาดถุงเพาะชำสัมพันธ์กับความสูงของกล้าไม้ เช่น กล้าไม้ยางนาอายุไม่เกิน 1 ปี สามารถเพาะในถุงเพาะชำขนาดประมาณ 2″ x 7″ ได้ หากกล้าอายุเกิน 1 ปี ควรเปลี่ยนขนาดถุงเป็นประมาณ 4″ x 9″ เพื่อป้องกันรากแก้วขดถาวร
2. ระบบรากไม่ขดถาวร เพราะรากจะไม่เดินเมื่อนำไปย้ายปลูก
3. ลำต้นกล้าไม้เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลที่โคนต้นสูงขึ้นประมาณ 10 ซม. แสดงว่ากล้าไม้โตพอที่จะนำไปปลูก
4. ลำต้นตรงไม่คดงอ ขนาดสมส่วน
5. ใบออกเหลืองนิด ๆ เนื่องจากกล้าที่ดีควรผ่านการฮาร์ดเดนนิ่ง เป็นการจำกัดการให้น้ำและผ่านการตากแดดเป็นเวลาหลายชั่วโมง จึงทำให้ใบเริ่มออกสีเหลือง แต่กล้าจะแข็งแกร่งและรอดชีวิตในแปลงเมื่อนำไปปลูก
เช่นเดียวกันกับการเพาะกล้าด้วยตัวเอง เราก็ควรทำให้กล้าของเราที่เพาะเองมีคุณภาพที่ดีตามลักษณะต่าง ๆ ที่ว่ามาเช่นเดียวกัน
3. การปลูกแบบประณีต
3.1 ขุดหลุมขนาดประมาณ 5 เท่าของตุ้มกล้าไม้ (ขุดหลุม 20 x 20 x 30 ซม. สำหรับตุ้มกล้าไม้ขนาด 10 x 20 ซม.)
3.2 ถอดกล้าออกจากถุง ระวังไม่ให้ตุ้มดินแตก วางตุ้มไว้กลางหลุมให้สูงเกือบเสมอขอบ และเติมดินให้รอบจนมิดตุ้มดิน
***ถ้าสภาพดินในแปลงไม่ดี ให้ผสมปุ๋ยคอกกับดินในอัตราส่วน 1:1 คลุกให้เข้ากันในหลุม และจึงวางตุ้มกล้าไม้ไว้ตรงกลาง ให้ส่วนผสมอยู่โดยรอบตุ้ม และจึงเติมดินให้มิดตุ้ม
3.3 รดน้ำให้เปียกชุ่มจนดินเซ็ตตัวไม่มีรูโบ๋
3.4 ปักหลักห่างจากลำต้น 1-2 ซม. แบ่งความสูงต้นกล้าเป็น 3 ส่วน และมัดเชือก 2 จุด เพื่อยึดลำต้นป้องกันลมพายุ
3.5 คลุมฟางหนา 7-10 ซม. รัศมีกว้าง 50-70 ซม. เพื่อป้องกันวัชพืชรอบต้น
3.6 หากในพื้นที่แล้งจัด ให้รดน้ำตามอีกครั้ง เป็นลำดับสุดท้าย
4. การดูแลหลังปลูก
ในการปลูกป่าฟื้นฟู จะต้องวางแผนการดูแลอย่างน้อย 3 ปี หรือจนเห็นว่าไม่มีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง วัชพืช ไฟป่า สัตว์ โรค แมลง รวมถึงคน
4.1 การรดน้ำ
4.2 การกำจัดวัชพืช
4.3 การลิดกิ่ง