ความเป็นมา

ประวัติการปลูกป่าฟื้นฟูในประเทศไทย

 

8 นาฬิกา 30 นาที ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์ได้เคลื่อนตัวเข้าถล่มและสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่หลายจังหวัดของประเทศไทย ส่งผลให้มี ผู้เสียชีวิตถึง 602 คน บ้านเรือนเสียหายหรือถูกทำลายประมาณ 47,000 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 200,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 153,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย เรือล่มหรือสูญหายอย่างน้อย 36 ลำ ถนนกว่า 1,000 เส้น และสะพาน 194 แห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย พื้นที่กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตรมีน้ำท่วมทั่วประเทศไทย นับเป็นความสูญเสียรุนแรงที่สุดในรอบ 35 ปี และในปีเดียวกันนี้ รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสัมปทานป่าบก หรือที่รู้จักกันในนามปิดป่า เป็นจุดเริ่มต้นของการหยุดการทำลายป่าไม้ อย่างไรก็ตามยังมีการลักลอบบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว

 

ในปีพ.ศ. 2535 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชกระแสมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ให้หามาตรการหยุดยั้งการทำลายป่าและเร่งฟื้นฟูบำรุงต้นน้ำลำธาร โดยทรงโปรดเกล้าให้คำนึงถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงของชาติที่จะต้องจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกป่าฟื้นฟูในประเทศไทย

 

ที่มาข้อมูลสถิติ: https://bit.ly/2en7fAy

 


 

“มูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อต่อยอดการทำงานจากโครงการฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นด้วยราเอคโตไมคอร์ไรซาในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้พื้นถิ่นธรรมชาติ อันจะมีความหลากหลายและเหมาะสมตามหลักนิเวศวิทยา และส่งเสริมการฟื้นฟูป่าด้วยราไมคอร์ไรซาและจุลินทรีย์ท้องถิ่น ซึ่งพันธกิจในการฟื้นฟูป่าที่เหมาะสมตามสภาพนิเวศวิทยาโดยมีจุลินทรีย์ส่งเสริม จะเป็นแนวทางการบรรเทาและชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของชื่อมูลนิธิด้วยประการฉะนี้

เครื่องหมายมูลนิธิ : รูปภาพเมล็ดยางเหียงพร้อมปีก โดยที่รากได้งอกลงสู่พื้นดินและแผ่ขยายรากจำนวนมาก เพราะเกิดจากการจับตัวของรากกับราเอคโตไมคอร์ไรซา

สีเขียว แสดงถึง ความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ และผืนดิน

สีดำ คือ ภาพเงาของเมล็ดยางเหียง และรากที่แผ่ขยาย