การปลูกป่าฟื้นฟูตามหลักนิเวศวิทยา

“เพื่อให้การฟื้นฟูป่าประสบความสำเร็จ เราจึงมีหลักวิชาการทุกขั้นตอน”

การปลูกและการดูแลหลังปลูกของมูลนิธิจะมีหลักปฏิบัติโดยอิงหลักการทางนิเวศวิทยาของป่าไม้ ตัวอย่างเช่น

  • การทำความเข้าใจกับวิสัยของพรรณไม้
  • การพึ่งพาอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อทุ่นแรงและเวลาในการปลูกและการดูแล
  • การเข้าใจถึงเหตุและปัจจัยทางธรรมชาติของโรคที่เกิดกับต้นไม้เพื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีทางชีววิทยา

ซึ่งในทุก ๆ การปลูกป่า เราจะมีขั้นตอนในการปฏิบัติ 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

  1. สำรวจพื้นที่เป้าหมายเพื่อศึกษาปัจจัยและประเมินความเสี่ยงเพื่อวางแผนการปลูกป่าและการดูแลหลังปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ การทราบข้อมูลพื้นที่ที่เราจะปลูกป่าอย่างรอบด้าน ทำให้เราสามารถออกแบบรูปแบบและกระบวนการในการฟื้นฟูป่าสำหรับพื้นที่นั้น ๆ เลือกชนิดพรรณไม้พื้นถิ่นที่เหมาะสม และเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอตลอดการปลูกและการดูแลจนกว่ากล้าไม้ที่เราปลูกจะสามารถปรับตัวและมีชีวิตรอดได้ในสภาพอากาศที่ท้าทาย อีกทั้งเรายังสามารถวางแผนป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อกล้าไม้ที่เราปลูก เพื่อให้การปลูกป่าของเรามีอัตราความสำเร็จสูงสุด
  2. การเตรียมกล้าไม้คุณภาพและการย้ายปลูกอย่างประณีต เป็น 2 องค์ประกอบที่สำคัญเพื่อบรรลุความสำเร็จในการปลูกป่า เริ่มต้นจากปัจจัยพื้นฐานอย่างคุณภาพของกล้าไม้ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกแม่ไม้ที่ดี การใช้จุลินทรีย์เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและสุขภาพของกล้าไม้ การเลือกช่วงอายุกล้าไม้ที่เหมาะสมสำหรับการย้ายปลูก รวมถึงการฝึกกล้าให้แกร่งก่อนย้ายปลูกก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญเพื่อให้กล้าไม้รู้จักที่จะปรับตัวและพร้อมสำหรับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศที่ท้าทายในแปลงปลูก ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดของกล้าไม้หลังย้ายปลูกลงแปลง และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ระหว่างการย้ายปลูกที่จะต้องอาศัยความประณีต เพื่อไม่ให้รากกล้าไม้เกิดอาการช็อคและกลัวที่จะแผ่ขยายรากลงสู่ดิน หากเราประสบความสำเร็จในการย้ายกล้า ต้นไม้ของเราก็จะสามารถตั้งตัวและพร้อมที่เจริญเติบโตต่อไป
  3. การดูแลหลังปลูกและการติดตามผล การปลูกป่าให้สำเร็จนั้น หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าแค่ปลูกก็เพียงพอ แต่แท้จริงแล้วในช่วง 1-3 ปีแรกหลังย้ายปลูก หรืออาจมากกว่านั้นในบางกรณี กล้าไม้ป่ายังคงต้องการการดูแลไม่ต่างจากไม้ผลหรือพืชเกษตรอื่น ๆ ทั้งเรื่องการรับมือกับภาวะแล้ง การจัดการวัชพืช หรือการป้องกันภัยอื่น ๆ จนกว่ากล้าไม้ป่าของเราจะสามารถเจริญเติบโตพ้นขีดอันตรายจากภัยเหล่านี้ และสามารถอยู่รอดได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องดูแลอีกต่อไป