มีป่า มีอาหาร

เราผูกพันกับป่ามาอย่างช้านาน ตั้งแต่อดีตมนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูล เริ่มจากหาอาหารจากป่าเพื่อความอยู่รอด จากนั้นเกิดการเรียนรู้ การดูแลรักษาและปกป้องผืนป่า ก่อเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของคนในชุมชน

บวชป่า

อาหารคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เราหาได้จากป่า ครัวสีเขียวที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้นั้นมีวัตถุดิบมากมาย ป่าต่างชนิด อาหารก็หลากหลายแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ในป่าเต็งรัง เราก็จะมีเห็ดป่า เช่น เห็ดเผาะ รวมไปถึงเห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดสามารถนำไปทำอาหารได้หลายอย่างและยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย ยังมีดอกกระเจียว ผักหวานป่า กลอย อีรอก และอีกมากมาย หากเป็นป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ก็จะมีหน่อไม้ น้ำผึ้งป่า ไข่มดแดง ผลไม้ป่าหลากหลายชนิด และหากเป็นป่าดิบชื้นที่พบได้ทางภาคใต้ อาหารที่พบในป่าประเภทนี้ก็เช่น เงาะป่า ชมพู่ป่า หน่อหวาย สะเดา เป็นต้น ไม่เพียงแค่ใช้เป็นอาหารเท่านั้น วัตถุดิบทั้งหลายเหล่านี้ยังช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย

forest food

นอกจากแหล่งอาหารแล้ว ป่ายังเป็นต้นกำเนิดของปัจจัยสี่อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในปัจจุบันที่ประชากรของโลกเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตย่อมมากขึ้น ทำให้ป่าพื้นถิ่นตามธรรมชาติถูกเปลี่ยนไปเป็นป่าเชิงเดี่ยวและการเกษตรเชิงเดี่ยว ระบบนิเวศที่สูญเสียสมดุลย่อมส่งผลกระทบต่อพืชผลสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในป่ารวมถึงเราผู้ใช้ประโยชน์จากป่าด้วย

IMG_1930

ดังนั้นการจะปลูกป่าเพื่อชดเชยป่าที่เราเสียไปนั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงสภาพป่าไม้พื้นถิ่นของแต่ละพื้นที่ก่อนที่จะลงมือปลูก ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า สร้างครัวหลังใหญ่ให้กลับมาเขียวขจี เพื่อโลกที่น่าอยู่ เพื่ออาหารที่ยั่งยืน