โครงการปลูกไม้พื้นถิ่น ณ โรงเรียนวัดดอนกอก (ล้วนประชาสรรค์)

จากความคิดเริ่มต้นที่จะจัดกิจกรรมวันเด็ก ทำให้เราได้มีโอกาสเดินทางไปยังอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อไปพบผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนกอก (ล้วนประชาสรรค์) เพื่อบอกเล่าถึงที่มาและความตั้งใจที่เราอยากจะมาจัดกิจกรรมที่โรงเรียนให้กับน้อง ๆ เราได้พบกับ ผอ.สุกัลยา พูลสวัสดิ์ และเกริ่นกับผอ.ว่า เราอยากจะสอนน้อง ๆ ปลูกไม้วงศ์ยางที่ใส่ เชื้อเห็ด ทำปุ๋ย แล้วก็เพาะเห็ด ให้โรงเรียนได้มีแหล่งอาหารที่มั่นคง และเราก็ตั้งใจกันไว้ว่าเราจะปลูกเป็นไม้พื้นถิ่นของทางอำเภอบ้านลาดทั้งหมด ทันทีที่เราเล่าให้ผอ.ฟังจบ ผอ.เลยชวนพวกเราเดินสำรวจรอบ ๆ โรงเรียนจะได้เห็นพื้นที่จริงและดูว่าตรงไหนพอจะทำอะไรได้บ้าง

“พื้นที่เราเป็นแบบนี้

เราพอจะปลูกอะไร

ได้ไหม”

คำถามที่ผอ.ถามพวกเรา ระหว่างที่เรากำลังเดินสำรวจพื้นที่รอบ ๆ โรงเรียนด้วยกัน

โรงเรียนวัดดอนกอกเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษารวมกันไม่ถึง 40 คน และมีครูเพียง 8 คน แม้โรงเรียนจะห่างจากตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีเพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตร แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้กระทั่งคนในอำเภอบ้านลาดเองก็ตาม ระหว่างที่เราเดินสำรวจโรงเรียน ผอ.ก็เล่าไอเดียนี่นั่นให้พวกเราฟัง ว่าเมื่อก่อนพื้นที่ตรงจุดนี้จุดนั้นเคยเป็นอย่างไร ทางโรงเรียนก็พยายามปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ สูงสุด ทำเป็นโรงเพาะเห็ดบ้าง ทำเป็นสวนสมุนไพรให้เด็ก ๆ มาช่วยกันปลูกเองบ้าง ทำเป็นแปลงปุ๋ยหมักบ้าง ค่อย ๆ ปรับไปทีละเล็กละน้อยตามกำลังทรัพย์ที่มี เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทำให้ไม่ค่อยมีงบประมาณและความช่วยเหลือมาถึงโรงเรียนสักเท่าไหร่ ผอ.และคุณครูก็ช่วยเหลือกันระดมเงินเพื่อซ่อมบำรุงและทำอะไรต่าง ๆ เพื่อเด็ก ๆ กันเอง ทำกฐินบ้าง จัดงานฟังเทศน์บ้าง เพื่อให้ได้เงินบางส่วนมาพัฒนาและปรับปรุงโรงเรียน ตรงไหนมีพื้นที่ว่าง แม้จะเป็นทางเดินเพียงเล็กน้อย ผอ.ก็จะหันมาถามเราเสมอว่าพื้นที่ตรงนี้พอจะปลูกอะไรได้ไหม แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่และสภาพดินที่เราเห็น ก็เป็นโจทย์ที่เราต้องนำมาคิดกันพอสมควร

ผลจากการเดินสำรวจรอบ ๆ โรงเรียน เราก็พบว่า

  1. โรงเรียนไม่มีพื้นที่มากพอที่จะสร้างป่าอาหาร
  2. คุณภาพดินของที่นี่ค่อนข้างต่ำ ดินมีสภาพแข็งและธาตุอาหารน้อยมาก สังเกตได้จากผักสวนครัวที่น้อง ๆ ปลูกกันค่อนข้างจะเสื่อมโทรมเลยทีเดียว และ
  3. พื้นที่ว่างที่พอจะปลูกอะไรได้ก็อยู่ในบริเวณที่ไม่เหมาะสมจะปลูกพืชกินได้ ใกล้ห้องน้ำบ้าง ใกล้เมรุบ้าง แต่ก็พอที่จะปลูกเป็นสวนหย่อมให้ร่มเงาสำหรับนั่งพักผ่อนได้ (แต่ก็ไม่รู้จะมีใครกล้ามานั่งไหมนะ 555+)

มีเหลืออยู่พื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจซึ่งทางโรงเรียนกำลังดำเนินการกันอยู่พอดีตั้งแต่ก่อนที่เราจะติดต่อไป พื้นที่นั้นก็คือ “ต้นไม้สำหรับปรับภูมิทัศน์หน้าอาคารเรียน”

“ตอนนี้ทางโรงเรียนกำลังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์หน้าอาคารเรียนให้สวยงามขึ้น ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนใช้ไม้กระถางขนาดกลางบ้าง เล็กบ้าง มาวางประดับ แต่มันอยู่ได้แค่ชั่วคราว เสียหายไปบ้าง แล้วก็เหี่ยวเฉาไปบ้าง ตอนนี้โรงเรียนเลยตั้งใจจะหาไม้ยืนต้นมาปลูก เพราะอยากเพิ่มร่มเงาและเป็นม่านธรรมชาติช่วยบังแสงแดดที่จะส่องเข้ามาในอาคารเรียน และช่วยเป็นกำแพงกั้นเวลารถเขาเลี้ยวเข้ามาหน้าอาคารเรียนด้วย”  ผอ.บอกเล่าให้เราฟังเพิ่มเติม

พอได้ยินดังนั้น ทางทีมเราเลยอาสาจัดหาพรรณไม้พื้นถิ่นเพื่อนำมาปลูกหน้าอาคารเรียนตามจุดประสงค์ที่ผอ.ได้ขอมา อย่างน้อย ๆ น้อง ๆ ที่โรงเรียนวัดดอนกอกก็จะได้รู้จักกับไม้พื้นถิ่นและวิธีการปลูกอย่างประณีต (แต่สุดท้ายเราก็ได้สอนผอ.และคุณครูปลูกกันไปก่อน เนื่องจากโควิด-19 ระบาดรอบสอง ทำให้เรายังไม่สามารถจัดกิจกรรมให้น้อง ๆ ได้ แต่เราจะต้องไปจัดให้ได้อย่างแน่นอน!)

จากแนวคิดโครงการป่าอาหารในโรงเรียน เมื่อพื้นที่มีจำกัด และเรามีโอกาสได้ทำโจทย์ใหม่ เราเลยปรับชื่อโครงการใหม่เป็นว่า “โครงการปลูกไม้พื้นถิ่นในโรงเรียน” ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ทางโรงเรียนได้ต้นไม้ตามที่เขาอยากได้จริง ๆ และต้องง่ายต่อการดูแลโดยน้อง ๆ และทางโรงเรียน

เรานำโจทย์ที่ได้รับกลับมาปรึกษา อ.นพพร นนทภา ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่นและผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา เพื่อหาพรรณไม้ที่เหมาะสมที่จะปลูกหน้าอาคารเรียน โจทย์คือ ให้ร่มเงาและความสวยงาม ขนาดไม่ใหญ่มาก สูงประมาณอาคาร 1 ชั้นเศษ ๆ และที่สำคัญคือเหมาะสมกับนิเวศบริเวณโรงเรียนวัดดอนกอก และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเราก็ได้นำ ต้นพิกุล ต้นลำดวน ต้นมะพลับ ต้นมหาพรหม และต้นรวงผึ้ง มาสอนผอ.และคุณครูทุกคนปลูกลงแปลงหน้าอาคารกันอย่างประณีต คุณครูยังบอกกับเราอีกว่า จะนำความรู้ “การปลูกแบบประณีต” มาทำคลิปสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียน ทำให้เรายิ่งมีพลังที่จะขยายผลไปยังอีกหลาย ๆ โรงเรียนให้ได้ทั่วไทยเลย ก่อนกลับผอ.ยังนำผลผลิตฝีมือเด็ก ๆ ในชื่อเมนูว่า นางฟ้าดอนกอกชุบแป้งทอด มาให้เราได้ชิม (และขอห่อกลับบ้านด้วยเอ้อ คงไม่ต้องบอกว่าอร่อยแค่ไหน 555+) ทำให้เรายิ่งอยากจะพบกับน้อง ๆ ไว ๆ อยากสอนน้อง ๆ เพาะเห็ดอื่น ๆ จากสิ่งที่มีอยู่ในโรงเรียนและชุมชน สร้างอาหารที่มั่นคงและรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นรางวัลให้กับตัวเอง

พวกเราฝากติดตามและให้กำลังใจน้อง ๆ โรงเรียนวัดดอนกอกและโรงเรียนอื่น ๆ ผ่าน “โครงการปลูกไม้พื้นถิ่นในโรงเรียน” ท่านใดสนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มต้นไม้และแหล่งอาหารในโรงเรียนและช่วยสนับสนุนพวกเราในการถ่ายทอดความรู้การปลูกแบบประณีตและการเพาะเห็ดต่าง ๆ สามารถสมทบทุนเพื่อโครงการ ได้ที่

บัญชี ธ.ไทยพาณิชย์  ชื่อบัญชี กองทุนมูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น  เลขที่บัญชี 436-031882-0

และหากโอกาส รวมทั้งสถานการณ์เอื้ออำนวยแล้ว เราก็อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจมา “ปลูกไม้พื้นถิ่น” ร่วมกับคนพื้นที่ สัมผัสประสบการณ์ดี ๆ แบบนี้ไปกับเรา รอติดตามว่าเราจะไปเปลี่ยนที่ไหนในตอนต่อไปได้ที่เว็บไซต์ https://nsrf.or.th และ Facebook มูลนิธิฟื้นฟูป่าพื้นถิ่น

“ขอขอบคุณผอ. คุณครู และพี่นักการโรงเรียนวัดดอนกอก ที่ร่วมปลูกไม้พื้นถิ่นไปกับพวกเรา 🙂 “