โครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้พื้นถิ่นในประเทศไทย

โครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้พื้นถิ่นในประเทศไทย มีเป้าหมายหลักเพื่อการส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากสถานการณ์ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ เราจะช่วยเหลือกันอย่างไร? ให้ป่าเกิดขึ้นได้จริงและสามารถเติบโตและขยายตัวในเร็วพลัน แนวคิดของโครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้พื้นถิ่นในประเทศไทย ซึ่งดำเนินโครงการโดยคณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไมคอร์ไรซา จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จึงไม่เพียงคำนึงถึงหลักนิเวศวิทยาและหลักวิชาการด้านไมคอร์ไรซาที่จะมาช่วยส่งเสริมการปลูกป่า แต่ทางโครงการยังคำนึงถึงผู้ปลูกป่าด้วยเช่นกัน “ผู้ปลูกป่าคือใจหลักสำคัญที่จะทำให้ป่าเกิดขึ้น” เพราะผู้ปลูกป่าจะนำไปสู่การเกิดป่า หากผู้ปลูกป่ามีความรู้และความเข้าใจในการฟื้นฟูป่าที่ถูกต้องเหมาะสม จึงจะสามารถสร้างป่าได้สำเร็จ และหากป่าผืนนั้นสามารถเลี้ยงปากท้องและสร้างประโยชน์ให้กับผู้ปลูกป่าได้ จึงจะเป็นการสร้างป่าที่ยั่งยืนโดยแท้จริง ยิ่งเราทุกคนช่วยกันสร้างผืนป่าได้มากเท่าใด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงจะถูกบรรเทาได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น

ภาพ: การอบรมเชิงบรรยายและปฏิบัติการ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวังหนองบัวลำภู

ตลอดระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2560-2563) ที่โครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้พื้นถิ่นในประเทศไทยได้ร่วมมือกับชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และชุมชนบ้านคลองยาง ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ปลูกป่าลงบนพื้นที่แปลงสาธิตและแปลงวิจัย ขนาดรวมทั้งสิ้น 15 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กับชาวบ้านและบุคคลหรือหน่วยงานที่สนใจได้เข้ามาศึกษา ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าชุมชนที่ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรหรือปล่อยรกร้าง ในระหว่างนี้ทางโครงการมีการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งการเพาะกล้าไม้ การปลูกป่าแบบประณีต การดูแลกล้าไม้หลังปลูก และที่สำคัญ การใส่เชื้อราไมคอร์ไรซาให้กับกล้าไม้ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกล้าไม้ และสร้างวัตถุดิบแสนอร่อยให้กับชุมชน “เห็ดป่า” กำลังจะเกิดขึ้นบนพื้นที่แปลงโครงการ 2 แห่งนี้ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของชุมชน ขอเพียงแต่สมาชิกชุมชนช่วยกันดูแลรักษากล้าไม้และบำรุงกล้าไม้จนเติบใหญ่ พื้นที่นี้ก็จะกลายเป็น “ป่าอาหารที่ยั่งยืน” ของชุมชนไปอีกหลายชั่วอายุคน

ภาพ: การอบรมเชิงบรรยายและปฏิบัติการ ณ โรงเรียนบ้านคลองยาง ตำบลคลองยาง อำเภอเกาะลันตา จังหวังกระบี่

พื้นที่โครงการทั้ง 2 แห่งนี้ ทางโครงการได้ส่งมอบกลับคืนให้ชุมชนเป็นผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่นี้ได้อย่างอิสระเสรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลงในปีนี้ แต่ความสัมพันธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นระหว่างคณะทำงานกับชุมชนทั้ง 2 แห่ง จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะเราเชื่อว่า…หากเราจะหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือ “เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้บ้านของเราเย็นลงอย่างยั่งยืน”

 

“ขอขอบคุณอาจารย์ ชุมชน และทีมงานทุกคนที่ร่วมฟื้นฟูป่าไปกับพวกเรา 🙂 “